ประวัติความเป็นมา
ตำบลควนหนองคว้า เดิมเป็นหมู่ที่ ๖ ตำบลควนเกย หมู่ที่ ๕ ตำบลควนพังและหมู่ที่ ๘ ตำบลควนชุม อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อมาเมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๗ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอเพื่อประโยชน์แก่การปกครอง และความสะดวกของประชาชน โดยได้พระราชทานอนุญาตให้ใช้พระนามศาสตราจารย์ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารเป็นชื่ออำเภอ ตำบลควนหนองคว้า จึงได้แยกพื้นที่มาจาก อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช มาเป็นตำบลหนึ่งในหก อำเภอจุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
ความเป็นมาของชื่อตำบลควนหนองคว้า นายเกียรติศักดิ์ แก้วประสิทธิ์ กำนันตำบลควนหนองคว้าเล่าว่าได้ตั้งชื่อ ตำบลตามชื่อสถานีรถไฟ ซึ่งเป็นสถานีแห่งเดียวในแถบพื้นที่บริเวณนั้นที่ผู้คนทั่วไปรู้จักกันดี นายประสิทธิ์ สงนุ่น อายุ ๕๘ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๑๓๑ หมู่ ๒ ตำบลควนหนองคว้า เล่าว่าสมัยปี พ.ศ.๒๔๘๒ พรครูวิสุทธิพิบูลเขตเจ้าคณะอำเภอร่อนพิบูลย์เห็นว่าชาวบ้านลำหัก และบ้านดอนทรายทั้งสองบ้านดังกล่าวอยู่ห่างใกลจากเส้นทางสัญจรมากการเดินทางไป – มาไม่สะดวกและแถวบริเวณนั้นมีเส้นทางรถไฟตัดผ่าน ท่านจึงได้ริเริ่มที่จะขอตั้งสถานีรถไฟโดยการรวมตัวกันของชาวบ้าน ซึ่งในปี พ.ศ.๒๔๘๓ ทางการได้ตั้งเป็นป้ายจอดรับ-ส่งผู้โดยสารให้ โดยให้ซื้อตั๋วโดยสารบนรถไฟ เมื่อได้ตั้งป้ายรถไฟแต่ยังไม่มีชื่อป้าย ผู้คนในขณะนั้นจึงได้ขอให้ตั้งชื่อว่า”ป้ายรถไฟควนหนองคว้า” เนื่องจากป้ายรถไฟอยู่ระหว่างกลางทั้งสองหมู่บ้าน เมื่อผู้คนลงจากรถไฟแล้วไม่รู้จะไปทางไหนดีรู้สึกเคว้งคว้าง ไม่มีถนนหนทางให้เดินบริเวณพื้นที่ทั่วไปเป็นป่าที่มีสัตว์ร้ายมากมายเมื่อมองไปทางทิศตะวันตกจะเห็นควนตราบ ควนยวนคตและควนน้อย เมื่อมองไปทางทิศตะวันออกมีลักษณะเป็นเนินป่าและบริเวณบ้านเพิงมีหนองน้ำใหญ่ น้ำเปรี้ยว มองไปทางทิศเหนือจะเป็นควนลำหัก ป้ายรถไฟควนหนองคว้า จึงตั้งชื่อมาจากเมื่อผู้คนลงจากรถไฟแล้วไม่รู้จะเดินทางไปทางไหนดี มีควน มีหนองน้ำ เที่ยวคว้าหาทางไป การตั้งป้ายรถไฟคราวนั้น ได้ตั้งพร้อมกับโรงเรียนควนหนองคว้า ซึ่งได้สร้างขึ้น ๑ หลัง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๕ โรงเรียนควนหนองคว้า โดนพายุฝนจึงได้ย้ายไปสร้างใหม่ที่บ้านลำหักและได้ชื่อว่าโรงเรียนบ้านลำหักและเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ป้ายรถไฟควนหนองคว้า ทางการได้ชื่อตั้งชื่อให้เป็นสถานีรถไฟพร้อมมีการซื้อ-ขายตั๋วในการเดินทาง
อีกประเด็นหนึ่ง นายขอม ทิพย์โพธิ์ ชาวบ้านวังใส หมู่ที่ ๑ ตำบล สามตำบล อำเภอจุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เล่าว่าพื้นที่บริเวณนี้ก่อนที่จะตั้งเป็นสถานีรถไฟ เป็นพื้นที่โล่งราบอยู่ ระหว่างควนและหนองน้ำใหญ่ เมื่อเข้าฤดูฝนฟ้าจะคำรามเสียงดังและเกิดฟ้าแลบฟ้าผ่าอยู่บ่อย ๆ เมื่อฝนตก ฟ้าแลบ ผู้คนที่อยู่บริเวณนั้นจะพากันวิ่งคว้าหาที่กำบัง ผู้คนจึงเรียกกันว่าควนหนองคว้า ตามลักษณะภูมิประเทศและปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ
ที่ตั้ง
ตำบลควนหนองคว้า ระยะทางห่างจากที่ว่าการอำเภอจุฬาภรณ์ ประมาณ ๑๓ กิโลเมตร
มีอาณาเขตดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลควนชุม อำเภอร่อนพิบูลย์
ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลบ้านตูล อำเภอชะอวด และตำบลบ้านชะอวด อำเภอจุฬาภรณ์
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลควนพัง อำเภอร่อนพิบูลย์
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลสามตำบล อำเภอจุฬาภรณ์ และตำบลควนเกย อำเภอร่อนพิบูลย์
เนื้อที่
ตำบลควนหนองคว้า มีเนื้อที่ประมาณ ๑๑,๙๗o ไร่ หรือ ๑๙.๑๕๒ ตารางกิโลเมตร
ลักษณะภูมิประเทศ
ตำบลควนหนองคว้ามีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบและที่ราบเอียงซึ่งมีพื้นที่ราบคิดเป็นร้อยละ ๙๐ และมีพื้นที่ราบเอียงคิดเป็นร้อยละ ๑๐ ของพื้นที่ทั้งหมด
ลักษณะภูมิอากาศ
ภูมิอากาศของตำบลควนหนองคว้า มีลักษณะอากาศแบบมรสุมเมืองร้อนแบ่งออกเป็น ๒ ฤดูคือฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนมิถุนายนและฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – เดือนธันวาคม
ลักษณะของดิน
สภาพดินทั่วไปของตำบลควนหนองคว้า เป็นดินร่วนปนทราย และดินเหนียว เหมาะแก่ การทำนา ทำสวนยางพาราและสวนผลไม้
ลักษณะของแหล่งน้ำ
ตำบลควนหนองคว้า มีแหล่งน้ำที่สำคัญคือคลองเหลียกตาลี สระศาลาน้ำหนองหาร หนองหารเตย
ลักษณะของไม้และป่าไม้
ตำบลควนหนองคว้า มีป่าไม้ที่สำคัญคือบริเวณป่าช้าดอนทราย ป่าหนองนนท์ เนินเมารานตราบแรด
เขตการปกครอง
ตำบลควนหนองคว้า แบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๔ หมู่บ้าน
เขตการเลือกตั้ง
ตำบลควนหนองคว้า แบ่งเขตการเลือกตั้งออกเป็น ๔ เขต
ประชากรมีทั้งสิ้น จำนวน ๓,๓๐๒ คน โดยแยกเป็นชาย จำนวน ๑,๖๒๙ คน เป็นหญิง๑,๖๗๓ คน มีครัวเรือนรวมทั้งสิ้น ๑,๑๔๖ ครัวเรือน โดยมีความหนาแน่นของประชากรโดยเฉลี่ย ๑๗๒ คน ต่อตารางกิโลเมตร
หมู่ที่ | ชื่อเรียกหมู่บ้าน | ชื่อผู้ใหญ่บ้าน | ประชากร ชาย (คน) | ประชากร หญิง (คน) | ประชากร รวม | จำนวนครัวเรือน |
๑ | บ้านสมควร | นายเสนอ รามณี | ๔๐๙ | ๔๔๑ | ๘๕๐ | ๒๘๕ |
๒ | บ้านดอนทราย | นายอำนาจ ดวงเทพ | ๓๘๗ | ๔๑๕ | ๘o๒ | ๒๗๗ |
๓ | บ้านลำหัก | นายเกรียงศักดิ์ เพชรรัตน์ | ๔๙๙ | ๔๗๕ | ๙๗๔ | ๒๘๗ |
๔ | บ้านควนตราบ | นายวิทูร ณรงค์ | ๓๓๔ | ๓๔๒ | ๖๗๖ | ๑๙๗ |
รวมทั้งสิ้น | ๑,๖๒๙ | ๑,๖๗๓ | ๓,๓๐๒ | ๑,๐๔๖ |
แยกตามช่วงอายุ (ปี) (เฉพาะผู้มีสัญชาติไทย และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน)
ช่วงอายุประชากร | เพศชาย | เพศหญิง | รวม |
ต่ำกว่า ๑๘ ปี | ๓๒๖ | ๓๓๖ | ๖๖๒ |
อายุ ๑๘ – ๖๐ ปี | ๑,๐๖๕ | ๑,๐๒๔ | ๒,๐๘๙ |
อายุ ๖๐ ปีขึ้นไป | ๒๒๘ | ๓๒๓ | ๕๕๑ |
รวม | ๑,๖๒๙ | ๑,๖๗๓ | ๓,๓๐๒ |
ชื่อสถานศึกษา | สถานที่ตั้ง (หมู่ที่) | จำนวนนักเรียน (คน) | ครู/ผู้ดูแล เด็ก(คน) | ||
ก่อนประถม | ประถม ๑-๖ | รวม | |||
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กควนหนองคว้า | ๓ | ๓๑ | – | ๓๑ | ๒ |
โรงเรียนบ้านลำหัก | ๓ | ๓๖ | ๖๘ | ๑๐๔ | ๑๐ |
โรงเรียนวัดสมควร | ๑ | ๔๒ | ๑๐๙ | ๑๕๑ | ๙ |
โรงเรียนบ้านดอนทราย | ๒ | ๒๔ | ๕๗ | ๘๑ | ๙ |
การสาธารณสุข
– โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล จำนวน ๑ แห่ง
อาชีพ | ร้อยละ |
ทำสวนยางพารา | ๕๐ |
ทำนา ทำไร่ ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ | ๓๐ |
ค้าขาย | ๑๐ |
รับจ้าง/รับราชการ | ๑๐ |
ข้อมูลพื้นฐานของหมู่บ้านหรือชุมชน
หมู่ที่ ๑ บ้านสมควร
หมู่ที่ ๒ บ้านดอนทราย
หมู่ที่ ๓ บ้านลำหัก
หมู่ที่ ๔ บ้านควนตราบ
สถิติบ้านจากทะเบียนบ้าน ตรวจสอบข้อมูลแยกรายพื้นที่ ระดับตำบล/แขวง
เขตพื้นที่ ตำบลควนหนองคว้า อำเภอจุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ตรวจสอบข้อมูลเดือนกันยายน 2566
จำนวน (หลัง)
หมู่ที่ 1 สมควร 294
หมู่ที่ 2 ดอนทราย 289
หมู่ที่ 3 ลำหัก 304
หมู่ที่ 4 ควนตราบ 211
รวม 1,098 หลัง